เหน็ดเหนื่อยจากงานกว่าจะถึงบ้านเราก็หมดแรง จึงอยากหลีกเร้นจากความวุ่นวายในเมืองสู่พื้นที่สงบๆ ที่จะทำให้จังหวะชีวิตของเรากลับมาเต้นอย่างสมดุลอีกครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพักอาศัยในเมืองที่สะดวกต่อการเดินทาง หรือให้แสงสีในยามค่ำคืนจากห้างร้านก็มีความจำเป็นเช่นกัน นั่นคือใจความสำคัญที่ทำให้ คุณจิ๋ว-อัศจร์กร ธันยเกียรติ์ คุณตั้ม-พิชัย กาวิแหง และทีมสถาปนิกจาก GREYSPACE co., Ltd. ได้เข้ามาช่วยแก้สมการสู่การเติมเต็มในโครงการ The Nest Sukhumvit 71 พื้นที่แห่งชีวิตของคนเมือง บ้าน-สำหรับการพักผ่อนที่สดชื่นด้วยพื้นที่สวนส่วนกลางขนาดใหญ่ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะผ่านความหนาแน่นแออัดใดๆ จากภายนอก คุณจะได้กลับมายังโอเอซิสที่เติมความสดชื่นได้ตลอดเวลา
ด้วยทำเลของโครงการซึ่งอยู่ในย่านสุขุมวิทตอนปลาย ในแง่ธุรกิจเจ้าของโครงการย่อมต้องการความคุ้มค่าสูงสุด ในขณะที่ทางสถาปนิกก็ต้องการสร้าง space ที่โล่งที่สุด จึงนำไปสู่การออกแบบกลุ่มอาคารพักอาศัย 5 อาคาร ที่วางผังล้อมรอบพื้นที่และมีคอร์ทกลางซึ่งเป็นส่วน Facility เชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าด้วยกัน
เมื่อเข้าสู่ภายในโครงการ สิ่งแรกที่คุณจะได้สัมผัสคือความมีชีวิตชีวาและสดชื่นจากพื้นที่สีเขียวเต็มพิกัด ซึ่งถูกโอบล้อมอยู่ใจกลางอาคารสูง 8 ชั้น ที่ดูโดดเด่นแต่เรียบหรูจากลูกเล่นการบิดระนาบของผนังได้อย่างน่าสนใจ
“แล้วที่จอดรถหายไปไหนล่ะ?” คุณจิ๋วถามเรา ก่อนที่จะเฉลยถึงหัวใจของโครงการนี้ ซึ่งทาง GREYSPACE ดีไซน์พื้นที่ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบเพื่อให้ผู้พักอาศัยทุกคนมองลงมาแล้วไม่เห็นรถแต่ถูกแทนที่ด้วยสวน ซึ่งสถาปนิกได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้น 1 ของอาคารรวมถึงพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับการจัดสรรเป็นที่จอดรถใต้อาคาร และบริเวณคอร์ทก็ยังสร้าง facility ซ้อนทับลงไปอย่างลงตัว ซึ่งเกิดจากการออกแบบร่วมกับภูมิสถาปนิกเพื่อให้คอร์ทกลางประกอบไปด้วยพื้นที่ที่อยู่บนดินจริงๆ และซ่อนที่จอดรถไว้ด้านล่าง ซึ่งนอกจากจะเกิดบรรยากาศที่น่าใช้งาน การเข้าถึงห้องพักก็ยังง่ายเพราะสามารถจอดรถแล้วเดินขึ้นอาคารได้เลย หรือจะเลือกออกมาเดินดื่มด่ำกับสวนก็ได้เช่นกัน
“เนื่องจากการห้อมล้อม มันจึงเกิด space ตรงกลาง ซึ่งเรามองว่ามันเป็น Mass ก้อนหนึ่งเปรียบเสมือนห้องขนาดใหญ่ของทุกคนในโครงการ ที่มีท้องฟ้าเป็นเพดาน มีพื้นเป็นสวนสีเขียว และมี Void สูง 8 ชั้น” ดังนั้นในช่วงเวลาเช้าแสงแดดจึงลอดผ่านช่องว่างระหว่างอาคารเข้ามาในสวน ทำให้พื้นที่ส่วนกลางมีชีวิตชีวา และพอช่วงบ่ายก็จะได้รับร่มเงาจากอาคารตลอดทั้งวัน
อีกหนึ่งไอเดียที่สำคัญของการออกแบบ คือการเชื่อมโยงทั้งอาคาร ส่วนกลางและผู้คน ไม่ว่าจะเป็นบริเวณนั่งเล่นต่างๆ ซึ่งถูกสอดแทรกอยู่ในทุกพื้นที่ และในทุกๆ โถงลิฟต์ของทุกอาคารเราจะสามารถมองลงมาเห็นทิวทัศน์ของสวนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ออกแบบตั้งใจสร้างพื้นที่ให้เกิดความสัมพันธ์เหล่านี้
“เมื่อขึ้นลงลิฟต์เราก็จะได้เห็นวิวสวนทุกวัน เหมือนกับเวลาที่เราเดินผ่านเมืองรกๆ ทุกวันแล้วได้กลับบ้านมาเจอที่โล่งๆ เราจะรู้สึกดี แต่ในวันที่เราแข็งแรงเราเห็นเมืองรกๆ เราจะเห็นเป็นความสนุกที่ได้เดินเที่ยว Shopping ดังนั้นสิ่งนี้จะช่วยส่งเสริมให้เรารักเมืองมากยิ่งขึ้น เมื่อได้อยู่ในที่บรรยากาศดีๆ ท่ามกลางบรรยากาศภายนอกที่วุ่นวายก็ไม่เป็นไร เพราะที่นี่ก็สะดวกสบาย”
สำหรับสถาปนิกมองว่า “ความสวยของอาคาร” คือ ความสวยด้วยตัวตนที่ไม่ใช่การประดับประดา ดังนั้นเพียงแค่การดีไซน์ยูนิตให้มีความเฉียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะทำให้ภาพรวมของตัวอาคารดูโดดเด่น อีกทั้งยังตอบรับกับฟังก์ชันการใช้งานภายใน เมื่อผู้พักอาศัยมองออกไปด้านนอกผ่านหน้าต่างที่บิดไปด้านข้างเล็กน้อยก็สามารถช่วยลดทอนความรู้สึกปะทะกับอาคารฝั่งตรงข้ามลง และยังได้ Space สำหรับการนอนเอกเขนก อ่านหนังสือ ในบรรยากาศใกล้ชิดทิวทัศน์ของสวน
ภายใต้รูปลักษณ์อาคารที่โมเดิร์นยังให้สไตล์ที่เรียบหรูด้วยการแสดงอัตลักษณ์ของหิน จากแนวคิดการเมตาฟอร์ (Metaphor) อาคารให้เสมือนเป็นหินที่ถูกแกะสลักอย่างประณีตจนกลายเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งสะท้อนสุนทรียะของความงามและความหรูหรา ภายนอกอาคารเลือกใช้เป็นสีขาว และบริเวณด้านหน้าโครงการสถาปนิกยังสร้าง façade ที่ให้ความพิเศษด้วยวัสดุกระเบื้องลายหินที่มีความมันวาว โชว์ลวดลายหินที่สวยงามด้วยกระเบื้องจาก COTTO GRANDE COLLECTION ซีรี่ย์ MARBLE ONE สี Volakas ขนาด 1.2×2.4 เมตรซึ่งให้ลายที่เล็กและสีอ่อนเหมาะสำหรับการนำมาประดับผืนผนังขนาดใหญ่ที่มีความสูงถึง 23 เมตร โดยนำมาจัดเรียงลายใหม่ (Recompose) ให้เกิดแพทเทิร์นที่สวยงามกลมกลืนกับผนังส่วนอื่นที่ไม่ได้กรุผิว
“บริเวณช่องใหญ่ 1 ช่อง เกิดจากการประกอบกันของกระเบื้อง 4 แผ่นซึ่งเรานำมาต่อลายใหม่ให้ดูต่อเนื่องเป็นผืนเดียว เพราะยิ่งกระเบื้องผืนใหญ่ก็จะยิ่งทำให้ภาพรวมของงานดูหรูหรา โดยเรายังมีการดีไซน์เว้นร่องเพื่อแยกแพทเทิร์นอีกด้วย” คุณตั้มกล่าวเสริม
ซึ่งทั้งนี้การติดตั้งกระเบื้องบนผนังอาคารจะต้องติดตั้งโดยทีมช่างผู้เชี่ยวชาญจาก COTTO Italia โดยโครงการนี้เลือกใช้เป็นการติดตั้งระบบแห้ง (Dry process) ซึ่งเป็นระบบการติดตั้งที่ได้มาตรฐานจากประเทศอิตาลี รับประกันในเรื่องความแข็งแรง ทนทานและง่ายต่อการดูแลรักษามากกว่าการติดตั้งกระเบื้องในระบบ Wet process เพราะช่วยตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสวยงาม (Aesthetic) ทำให้งานดีไซน์ได้ลุคของหินอ่อนธรรมชาติตรงตามความต้องการของผู้ออกแบบ ตัวกระเบื้องมีคุณสมบัติทนแดดทนฝนกว่าหินธรรมชาติ สีและลวดลายจึงคงทน ไม่ซีดจาง ง่ายต่อการซ่อมแซมหากมีกระเบื้องบางแผ่นเสียหาย สามารถยกถอดซ่อมได้ไม่ต้องทำการรื้อทั้งหมด (Function & Maintenance) ที่สำคัญการติดตั้งระบบ dry process จะทำให้มีช่องว่างระหว่าง facade กับผนังอาคาร อากาศจึงหมุนเวียนผ่านได้จึงช่วยลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร (Energy) และลดภาระการรับน้ำหนักของโครงสร้างอาคารได้เป็นอย่างดี (Environment) เพราะติดตั้งด้วยโครงมีน้ำหนักเบาเพื่อห้อยแขวนแผ่นกระเบื้อง COTTO Italia ที่มีความหนาเพียงแค่ 6 มม. ซึ่งบางและมีน้ำหนักเบากว่าแผ่นหินธรรมชาติที่มีความหนาถึง 2 ซม.
“ข้อดีของวัสดุคือการติดตั้งที่เป็นระบบ แข็งแรง มีลวดลายที่สวยเสมือนหินธรรมชาติ ทุกสิ่งพร้อมให้สถาปนิกหยิบนำไปสร้างสรรค์ จริง ๆ แค่ติดตั้งเฉย ๆ ก็สวย แต่ถ้าอยากได้งานที่เป็นเอกลักษณ์เป็นงานคราฟท์ วัสดุกระเบื้องของ COTTO Italia ซึ่งมีมาตรฐานสูงก็เหมาะสำหรับให้เราสร้างสรรค์ ความสนุกของหินคือคาแรกเตอร์ที่จะเปลี่ยนไปตามลวดลายและสีสัน”
นอกจากความสวยงามสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการใช้งาน ซึ่งทุกฟังก์ชันของ Facility ในโครงการนี้สถาปนิกเน้นย้ำว่าจะต้องใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของล็อบบี้ สวน พื้นที่นั่งเล่นภายนอก สนามเด็กเล่น และในส่วนของ Club house ที่มีสระว่ายน้ำ ฟิตเนส และ Co-working space ด้วยการออกแบบงานภูมิทัศน์ที่คำนึงถึงการใช้งานของทุกคน (Universal Design) ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่ใช้วีลแชร์ ก็สามารถขึ้นมาใช้งานส่วนกลางได้ทั้งหมด เพราะที่นี่คือ “บ้าน” สำหรับทุกคนในครอบครัวที่สามารถเข้ามาร่วมแบ่งปันทุกประสบการณ์ของความสุขร่วมกันได้
ขอขอบคุณ
คุณจิ๋ว-อัศจร์กร ธันยเกียรติ์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง
คุณตั้ม-พิชัย กาวิแหง สถาปนิก
จาก GREYSPACE co., Ltd.
www.greyspace.info
Article by Designsomething.com