THE HAUTE ปฏิรูปแนวคิดใหม่ให้กับงานออกแบบ เพื่อการเชื่อมต่อ SPACE ด้วยพื้นที่สีเขียว

ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหาไม่ว่าจะเพื่อการอยู่อาศัยหรือการทำงาน สภาพแวดล้อมที่ดีย่อมเป็นตัวช่วยเพิ่มคุณภาพของชีวิตให้สมบูรณ์แบบทั้งในด้านกายภาพและด้านจิตใจ โดยเฉพาะการอยู่อาศัยในเมืองที่มีพื้นที่จำกัดและแทบจะไม่มีพื้นที่สีเขียว แต่ด้วยพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้กลับเป็นโจทย์ท้าทายให้กับนักออกแบบที่ต้องการปฏิรูปแนวความคิดของโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบเดิมๆ ให้เป็นโฮมออฟฟิศสมัยใหม่ ที่มอบ “ความสมดุลของการใช้ชีวิตในระยะยาว” เช่นเดียวกับการเป็นบ้านพักอาศัยส่วนตัว

THE HAUTE กาญจนา-สาทร คือ Office Residence 5 ชั้น ที่ผสมผสานความเป็นบ้านใส่เข้ามาในออฟฟิศอย่างลงตัว ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในการออกแบบบ้านพักอาศัยของ คุณอาร์ต อยุทธ์ มหาโสม สถาปนิกจาก Ayutt and Associates design (AAd) เข้ามาพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรแห่งนี้ ด้วยการ “พลิกไอเดีย” แค่เพียงนิดเดียวแต่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้อาคาร

ด้วยทำเลที่ตั้งของโครงการ ซึ่งอยู่ในย่านที่เต็มไปด้วยบ้านพักอาศัยแนวราบหรืออาคารพาณิชย์ โครงการนี้จึงเลือกผสมผสานไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตทั้งสองรูปแบบ เป็นอาคารแบบ “โฮมออฟฟิศ” ที่มีจำนวนเพียง 10 ยูนิตเท่านั้น

“ส่วนมากโครงการในลักษณะนี้จะอยู่ในทำเลกรุงเทพชั้นใน แต่เราคิดว่าไม่ควรจำกัดงานออกแบบด้วยทำเลเพียงอย่างเดียว หลากหลายครอบครัวมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ที่นี่ เขาก็อยากจะใช้ชีวิตอยู่แถวนี้ เราจึงดึงไลฟ์สไตล์บางอย่างให้มันเกิดขึ้นในโซนนี้”

“ทำไมเราจะต้องมีพื้นที่สวนส่วนกลางที่ใช้งานไม่ได้จริง และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย” คุณอาร์ตเริ่มต้นเล่าถึงประเด็นที่น่าสนใจ ที่เขาเลือกหยิบมามองในมุมใหม่ด้วยการกระจายพื้นที่สีเขียวกลับเข้าไปในบ้านทุกๆ ยูนิต ซึ่งช่วยสร้างสถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งต่อมุมมองภายใน ภาพรวมของโครงการ และต่อมุมมองภายนอก

“เราสามารถการันตีได้เลยว่า พื้นที่สีเขียวของเรามีมากกว่าโครงการบ้านจัดสรรปกติ 2-4 เท่า เพราะเราให้ต้นไม้อย่างน้อยบ้านละ 4 ต้น ทั้งหมด 10 ยูนิต รวมทั้งโครงการจะมีต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 40 ต้นที่ผสมผสานไปกับรูปทรงของงานสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย”

สถาปัตยกรรมที่รองรับการใช้งานที่ยืดหยุ่น เป็นคำนิยามที่ตอบโจทย์การออกแบบโฮมออฟฟิศหลังนี้ ซึ่งพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์ในแต่ละช่วงชีวิตของเจ้าของในอนาคต เพราะเลเอาท์ของบ้านหลังนี้ถูกออกแบบมาให้เป็น “ออฟฟิศที่อยู่สบายและเป็นส่วนตัวเหมือนกับบ้าน”  

จากแนวคิดดังกล่าว สถาปนิกเลือกดึงข้อดีของความเป็นบ้านและคอนโดมิเนียมเข้ามาผสมผสานกัน ข้อดีของคอนโดคือการเห็นวิวในมุมสูง ในขณะที่บ้านจะเห็นวิวในมุมต่ำและต้องมองเห็นต้นไม้ ในระดับที่สัมผัสได้” ต้นไม้จึงถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านในตำแหน่งชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 4 และยืมต้นไม้ของแต่ละบ้านให้มาเป็นของเรา ผู้พักอาศัยจึงสัมผัสได้ถึงพื้นที่สีเขียวทั้งจากภายในและเชื่อมต่อมุมมองของ space กับต้นไม้ภายนอก เสมือนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ใหญ่ขึ้นและให้ความเป็นส่วนตัวจากการพรางตาของต้นไม้

ในการออกแบบฟังก์ชัน พื้นที่ชั้น 1 ถูกจัดสรรให้เป็นส่วนต้อนรับของออฟฟิศมีเคาน์เตอร์รีเซฟชั่นและพื้นที่พักคอยสำหรับผู้มาติดต่อ ซึ่งสถาปนิกเลือกใช้ COTTO ITALIA COLLECTION ซีรี่ย์ I MARMI DI REX ลาย Marble grey เข้ามาเติมเต็มบรรยากาศในส่วนนี้ ซึ่งเน้นความเรียบหรูดูมีระดับกับการตกแต่งภายในด้วยลวดลายหินธรรมชาติ เมื่อเดินผ่านบันไดเข้าไปจะเป็นห้องน้ำและโซนที่นั่งแยกอีกจุดหนึ่งสำหรับการพูดคุยที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นโดยเปิดรับมุมมองสวนด้านหลังเต็มที่ โดยบ้านทุกหลังจะมีลิฟท์โดยสารที่ให้ความเป็นส่วนตัวเพื่อแยกการเข้าถึง ระหว่างส่วนของพนักงานในชั้น 2 ถึงชั้น 3 และส่วนที่พักอาศัยในชั้น 4 ถึงชั้น 5 และด้านหลังถูกจัดสรรให้เป็นห้องบันไดหนีไฟซึ่งเป็นส่วนเซอร์วิสเพื่อแยกส่วนอยู่อาศัยและส่วนบริการออกจากกัน โดยใช้เป็นทางเดินของแม่บ้านและช่างซ่อมบำรุง ทำให้ส่วนพักอาศัยมีความเป็นส่วนตัวเต็มที่

เมื่อเดินผ่านโถงบันไดเพื่อขึ้นไปยังชั้น 2 เราจะถูกล้อมกรอบด้วยบรรยากาศความต่อเนื่องของลวดลายหินอ่อนที่เล่นกับแพทเทิร์นของกระเบื้อง COTTO ITALIA COLLECTION ซีรี่ย์ STONES & MORE 2.0 สี Arabescato white ที่ให้พื้นผิวมันวาวดูหรูหราทั้งในส่วนของผนังและขั้นบันได ซึ่งกระเบื้องรุ่นเดียวกันนี้ยังถูกใช้เป็นผนังในส่วนของห้องนั่งเล่นชั้น 4 ที่ใช้ลักษณะการเล่นแพทเทิร์นกระเบื้องแบบเดียวกันอีกด้วย

สำหรับในชั้น 2 และชั้น 3 เป็นส่วนของออฟฟิศ ที่ถูกออกแบบเป็นผนังทึบและช่องเปิดหน้าต่างที่ถูกเซตเข้ามาด้านในด้วยครีบผนังลายหินสีดำซึ่งเป็น Façade แนวตั้งที่เหมือนกับบ้านตรงข้ามแต่ต่างทิศทาง ซึ่งมาจากแนวคิดการ “พลิกไอเดีย” ของผู้ออกแบบเพื่อให้สามารถมองเห็นต้นไม้ของบ้านหลังอื่น ๆ ด้วยการหมุนยูนิตของบ้านที่มีเลเอาท์ของผังเหมือนกันแต่นำมาวางไว้ในฝั่งตรงข้าม  

พื้นที่ทำงานจึงได้มุมมองพื้นที่สีเขียว ทั้งจากทางหน้าต่างและระเบียงด้านข้างซึ่งเปิดโล่งเห็นต้นไม้ รวมไปถึงต้นไม้ที่อยู่ไกล ๆ ซึ่งแม้ในชั้น 3 จะไม่มีต้นไม้แต่ก็สามารถมองเห็นต้นไม้ของชั้น 2 ในระดับยอดไม้และเห็นต้นไม้ของอาคารข้างเคียงได้ด้วยพร้อมกัน ส่วนพื้นที่ที่เป็นกระจกก็สามารถเปิดได้กว้างเพื่อการระบายอากาศ ครีบตั้งของผนังช่วยในการบังแดดแต่ยังยอมให้แสงธรรมชาติเข้ามาสู่ภายในห้อง และให้ความเป็นส่วนตัวเพราะช่วยบังมุมมองจากภายนอกได้เป็นอย่างดี

เมื่อเดินขึ้นโถงบันไดมายังส่วนพักอาศัยบริเวณชั้น 4 เราจะผ่านประตูที่กั้นแยกความเป็นส่วนตัวชัดเจนและสัมผัสได้ถึงพื้นไม้เอนจิเนียร์ที่เข้ามาแทนที่พื้นกระเบื้องเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ความอบอุ่นมากขึ้น ภายในถูกจัดเป็น Pantry ส่วนรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่นที่เปิดโล่งแบบ Open Plan เชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน โดยระหว่างภายในห้องและระเบียงถูกกั้นด้วยประตูกระจกสไลด์ยาวที่สามารถเปิดมุมได้สุดและไม่มีเสาจึงเชื่อมต่อให้ผู้อาศัยรู้สึกเป็นส่วนเดียวกันอย่างไม่ถูกจำกัดมุมมอง นอกจากนี้พื้นที่ระเบียงสถาปนิกยังใช้การออกแบบพื้นที่ในลักษณะ Double Volume

จุดเด่นในงานออกแบบของ AAd คือแผงระแนงอะลูมิเนียมที่ให้ความเป็นส่วนตัวและโปร่ง ทำให้เราสามารถเปิดกระจกภายในได้ทั้งหมด และยังเลือกเปิด-ปิด ปรับแผงระแนงได้ตามองศาที่ต้องการ ซึ่งแผงระแนงนี้ยังช่วยรับความร้อนของแสงแดดและลดอุณหภูมิได้ถึง 10 องศาในขณะที่แสงและลมยังคงผ่านได้ดี และด้วยลักษณะพื้นที่แบบ Double Volume ลมร้อนจึงลอยตัวขึ้นด้านบน ทำให้ระเบียงเป็นดังพื้นที่ฉนวนที่ช่วยลดความร้อนก่อนเข้าสู่ด้านในบ้าน ซึ่งการเลือกใช้เป็นวัสดุอลูมิเนียมก็ช่วยในเรื่องการดูแลรักษาที่ง่ายและทนทานเพื่อการใช้งานคุ้มค่าในระยะยาว

ในชั้น 4 นี้ถูกออกแบบให้มีต้นไม้ 2 จุด คือระเบียงหน้าและระเบียงข้างที่สามารถเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศหมุนเวียนและถ่ายเทได้ดี เป็นการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ทั้งสองส่วน และในทุกๆ พื้นที่เราก็สามารถเปิดรับมุมมองของพื้นที่สีเขียวที่ซ่อนอยู่โดยรอบ ส่วนด้านหลังก็มีครัวไทยขนาดใหญ่ที่ได้รับแสงธรรมชาติ และระบายอากาศได้ดีอีกด้วย

เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 5 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดของส่วนพักอาศัยจะพบกับห้องนอนมาสเตอร์ที่ถูกตกแต่งด้วยสีทองที่ดูหรูหรา ประกอบไปด้วยส่วนของห้องนอนที่มีพื้นที่ Walk-in closet และห้องน้ำที่สามารถมองออกไปเห็นเรือนยอดของต้นไม้ได้ ภายในห้องน้ำถูกปูด้วยกระเบื้องลายหินอ่อนสีขาว COTTO ITALIA COLLECTION ซีรี่ย์ PREXIOUS OF REX สี Mountain Treasure เพื่อให้บรรยากาศลวดลายหินธรรมชาติที่ดูเรียบหรู ภายในห้องนอนได้รับความเป็นส่วนตัวเต็มที่จากแผง façade ที่ต่อเนื่องมาจากชั้น 4 ซึ่งอยู่ในระยะที่ไม่สามารถเอื้อมเปิดปิดได้ สถาปนิกจึงเปิดช่องไว้ในจุดที่เห็นมุมมองของต้นไม้และให้ผู้พักอาศัยโฟกัสวิวของท้องฟ้าเป็นหลัก  

ในการดีไซน์รูปแบบภายนอกของอาคาร สถาปนิกเลือกใช้รูปทรงสี่เหลี่ยมเพื่อสื่อสารถึงความทันสมัยเข้ากับรสนิยมของลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นการใช้ผนังทึบ ผนังโปร่งและครีบผนัง โดยให้ส่วนฐานของอาคารในส่วนฟังก์ชันออฟฟิศมีความเข้มขรึมด้วยกระเบื้องลายหินอ่อนสีดำ และให้ฟังก์ชันพักอาศัยในส่วนบนดูโปร่งเบาด้วย Façade อลูมิเนียมสีเงิน ซึ่งถูกแบ่งเป็นสองฟังก์ชันที่ซ้อนทับกันชัดเจน แทรกด้วยกระเบื้องลายหินอ่อนสีขาวในส่วนของกระบะต้นไม้บริเวณระเบียงทั้งหมด โดยสถาปนิกเลือกใช้กระเบื้องลายหินสีขาวที่มีลายแร่สีดำของ COTTO ITALIA COLLECTION ซีรี่ย์ I CLASSICI DI REX สี Statuario เพื่อให้คอนทราสกับกระเบื้องลายหินสีดำที่มีลายแร่สีขาวของ COTTO ITALIA COLLECTION ซีรี่ย์ I CLASSICI DI REX สี Marquinia ซึ่งช่วยทำให้ฟอร์มอาคารชัด และดูไม่ทึบตัน อาคารจึงดูโดดเด่นด้วยรูปลักษณ์ของกระเบื้องลายหินอ่อนธรรมชาติที่ให้ความเรียบหรู และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นพื้นผิวทั้งภายนอกและภายในของอาคาร เพราะกระเบื้องมีความแกร่ง ไม่ซึมน้ำ สามารถควบคุมลวดลายและเฉดสีให้เป็นมาตรฐาน ทำให้จบงานง่ายและเกิด defect ที่ตามมาน้อยกว่าการเลือกใช้หินธรรมชาติ  

ซึ่งในแง่ของการก่อสร้าง สถาปนิกได้ผสมผสานระบบโครงสร้างเข้าไปในงานออกแบบ เพื่อให้ในชั้น 1 สามารถจอดรถได้เต็มที่แบบไร้เสา โดยการซ่อนเสาคานไว้ในระนาบของผนังและใช้ครีบตั้งของ façade เป็นโครงสร้างคานย่อยเพื่อช่วยยึดให้ผนังทั้งหมดเป็นเฟรมเดียวกัน ซึ่งช่วยลดความลึกของคาน ได้สแปนที่กว้าง และ space ภายในที่โล่ง อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณค่าก่อสร้าง จึงเป็นการออกแบบที่คิดครอบคลุมทุกส่วน

สำหรับในงานออกแบบโครงการบ้านสักหลัง ความสำเร็จอาจมองเพียงแค่ความสวยงามหรือฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก แต่สำหรับคุณอาร์ท การสร้างพื้นที่สีเขียวคือสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่แนวคิดในการออกแบบแต่เป็นสิ่งที่ควรจะต้องมีในทุกๆ โครงการ เพื่อคืนพื้นที่สีเขียวให้กับสังคม และขับเคลื่อนการออกแบบในอีกมิติหนึ่ง   

ขอขอบคุณ
คุณอาร์ต อยุทธ์ มหาโสม จาก Ayutt and Associates design (AAd)

Photos by AAd
Article by Designsomething.com